เบาะเจลป้องกันแผลกดทับตำบลรำมะสัก

ศ, 2019-06-14 14:52 -- admin
วันที่: 
ศุกร์, มิถุนายน 14, 2019 - 14:45
สถานที่: 
รพ.สต.รำมะสัก

ชื่อโครงการ เบาะเจลป้องกันแผลกดทับ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
นาย ชัยพร    เทียมทอง พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
หน่วยงาน        โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรำมะสัก
หลักการและเหตุผล 
แผลกดทับเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมลดลง การเกิดแผลกดทับทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย คือ ทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานกับบาดแผล ก่อเกิด ความไม่สุขสบายและอาจเกิดการติดเชื้อจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ การเกิดแผลกดทับถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ จะต้องให้การรักษาเพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อที่แผลหรืออาจจะต้องไปรักษาในโรงพยาบาล อาจจะต้องนอนโรงพยาบาล ส่งผลให้เกิดรายจ่ายที่มากเกินความ จำเป็นทั้งต่อตัวผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และโรงพยาบาล ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว จึงเป็น แนวทางที่สำคัญที่บุคลากรทางการพยาบาลควรตระหนักและเล็งเห็นถึง ความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
          จากผลการทบทวนการปฏิบัติงานในชุมชนที่รับผิดชอบของรพ.สต.รำมะสัก ม.7 - ม.12 พบว่า ในชุมชนของรพ.สต.รำมะสัก ม.7 - ม.12 พบผู้ป่วยกลุ่มโรค อาการทางหลอดเลือดสมองและผู้ป่วยที่ติดเตียงช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงจำนวนหลายคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้ใช้แนวทางการเฝ้าระวังการเกิดแผลกดทับ มีการใช้อุปกรณ์เตียงนอนลม การพลิกตะแคงตัว แต่ยังเกิดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับ ระดับ 2 จำนวน 2 ราย คิดเป็น 18.18% ในปี 2561 โดยการทบทวนการปฏิบัติงานยังพบว่า บุคลากร และญาติผู้ป่วยขาดการประเมินผู้ป่วยที่ชัดเจนและขาดการปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ประกอบกับยังขาดแคลนอุปกรณ์เตียงนอนลมที่เพียงพอ เนื่องจากชำรุด และจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มมากขึ้น ผู้ศึกษาจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ ค้นคว้าหาความรู้ประยุกต์ใช้นวัตกรรมอื่นๆที่ช่วยลดแผลกดทับและคิดค้นทำนวัตกรรมเบาะเจลป้องกันแผลกดทับ เพื่อใช้ป้องกันการเกิดแผลกดทับ เนื่องจากมีผลการทดลองใช้ที่นอนเจลกับผู้ป่วยและสามารถป้องกันแผลกด ทับได้ โดยผู้ศึกษาได้นำมาประยุกต์และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยและวัสดุอุปกรณ์ที่รพ.สต.มีอยู่ ซึ่งผู้ศึกษาเล็งเห็นว่านวัตกรรมเบาะเจลป้องกันแผลกดทับ มีราคาถูก สะดวก ผู้ป่วยสามารถ นำไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้ ใช้รองเฉพาะส่วนได้เช่น ปุ่มกระดูก ต่างๆ แขน ขา นอกจากนี้ยังใช้งานสะดวก และช่วยประหยัดในการซื้ออุปกรณ์เตียงนอนลมเพิ่ม
การป้องกันการเกิดแผลกดทับที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่สามารถใช้เพียงอุปกรณ์เบาะเจลอย่างเดียวได้ ผู้ศึกษาจึงได้ศึกษาค้นคว้าและทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ เพื่อใช้ปฏิบัติร่วมกับ การใช้เบาะเจล ป้องกันแผลกดทับ ส่งผลให้การป้องกันการเกิดแผลกดทับมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อใช้ป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
2. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการป้องกันการเกิดแผลกดทับ
 
วิธีดำเนินการ
1. วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาแนวทางแก้ไข
2. ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ
3. เขียนเสนอหัวหน้ารพ.สต. เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอแนะ
4. จัดหาวัสดุ อุปกรณ์โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. ดำเนินงานตามโครงการ
6. ทดลองใช้เบาะเจล เพื่อหาข้อบกพร่องและนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิด ประโยชน์สูงสุด
 
กลุ่มเป้าหมาย
          ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมลดลง โดยการประเมินBarthel ADLคะแนน ≤ 4
 
ระยะเวลาการดำเนินการ
วันที่1มีนาคม2562 – 30เมษายน2562
งบประมาณ

  • ค่าตัดเย็บ 200 บาท
  • แผ่นเจลจำนวน 8แผ่น
  • ผ้าสำหรับตัดเย็บจำนวน 1เมตร ราคา 60บาท
  • ซิปยาว 1 เมตรหัวซิป 2 หัว รวมเป็น ราคา 200 บาท
  • รวมเป็นเงินทั้งหมด 460บาท (สี่ร้อยหกสิบบาทถ้วน)

 
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับต่อผู้ป่วย
1. ป้องกันการเกิดแผลกดทับ
2. เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ป่วย และญาติ  เนื่องจากใช้งานสะดวก  
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย
 
ผลการศึกษา
เมื่อนำนวัตกรรมเบาะเจลป้องกันแผลกดทับไปทดลองใช้กับผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งมีแผลกดทับบริเวณรอยปุ่มกระดูก พบว่า ในช่วงเวลา 2 เดือน ผู้ป่วยไม่พบแผลกดทับเพิ่มเติม รอยแผลเดิมทุเลาดีขึ้น และเนื่องด้วยมีอากาศที่ร้อน เมื่อผู้ป่วยใช้นวัตกรรมเบาะเจลป้องกันแผลกดทับ ให้ความเย็น ทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้มากขึ้น ญาติผู้ป่วยก็มีเวลาพักผ่อนจากการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น แต่ญาติผู้ป่วยต้องการเบาะเจลเย็นเพิ่มเติม และมีขนาดที่เล็กลง เพื่อใช้เฉพาะที่ ที่มีขนาดเล็กได้ดังนั้น ผู้ศึกษา จึงได้กลับมาวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของญาติผู้ป่วยโดยจะมีการพัฒนานวัตกรรมต่อยอด โดยประดิษฐ์เบาะเจลให้มีขวาดเล็กลงสามารถใช้กับส่วนที่เล็ก ๆ ตามร่างกายได้ ซึ่งอยู่ช่วงของการพัฒนาและการดำเนินการผลิต  
ส่วนของความพึงพอใจในการใช้นวัตกรรม จาการสังเกตพบว่าผู้ป่วยพึงพอใจมากที่ได้อุปกรณ์ช่วยเหลือ และมีการชื่นชมและขอบคุณในการดูแลจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรำมะสัก
 
ผลลัพธ์ที่ได้
จากการทดลองใช้กับผู้ป่วย 1 ราย ในปี 2562   พบว่า
 - ไม่เกิดแผลกดทับเพิ่ม แผลดีขึ้น  100 %
 - ความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ดี 100 %
 
 

แบบสำรวจ

ท่านพึงพอใจ เนื้อหาส่วนใดของเว็บไซต์ ?